ทำไม? ดื่มเหล้าแล้วเมาไปถึงสมอง ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ

ทำไม? ดื่มเหล้าแล้วเมาไปถึงสมอง  ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ

ศุกร์เมา เสาร์แฮงค์ อาทิตย์นอน หลายๆ คนมักจะมีพฤติกรรมดังกล่าว เพราะการทำงานตลอดทั้งสัปดาห์มันเครียด การไปปาร์ตี้ แฮงค์เอาท์กับเพื่อนๆ  แต่ทำไมการดื่มแอลกอฮอล์ ถึงเมาชนิดที่ว่าเก็บทรงไม่อยู่ ควบคุมตัวเองไม่ได้ และจำอะไรไม่ได้

KEY

POINTS

  • เหล้ามีฤทธิ์กระตุ้นร่างกาย ทำให้มีความสุข ลืมความทุกข์ จึงสนุกสนาน เฮฮาร่าเริง แต่อันที่จริงแล้ว เหล้าไม่ได้ไปกระตุ้นประสาท หรือสมองเลย มันกลับไปกดประสาทและสมอง
  • หลังจากดื่มเหล้าไปแล้ว สิ่งที่ไม่ควรทำ คือ การอาบน้ำทันที หลับยาว เป่าพัดลม กินยาบรรเทาอาการ 
  • เมื่อมีอาการเมาค้าง ควรจะดื่มน้ำเปล่ามากๆ ไม่นอนทั้งวัน เลือกกินของร้อนๆ และเติมความเปรี้ยวให้แก่ร่างกาย

จากข้อมูลศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ.2567 เปิดเผยถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 43.19 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 23.92 ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 15.28 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.82 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 78.74 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 38.54 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 31.89

การดื่นจมเมา ขาดสติ นำมาซึ่งอันตรายมากมาย แต่เคยสงสัยกันหรือเปล่าว่า ทำไม? หลังดื่มแอลกอฮอล์แล้ว เช้ามากลับมาอาการแฮงค์ อาการเมาค้างชวนทรมานทุกที นั่นก็เป็นเพราะว่าร่างกายมีการขับของเสียในรูปแบบของปัสสาวะ ซึ่งมักขับสารอาหารที่สำคัญ อย่าง แมกนีเซียม วิตามินบี และโพแทสเซียม ออกไปด้วย ทำให้เกิดการคั่งของสารแอลดีไฮด์ มีผลต่อการลดปริมาณน้ำตาลในเลือดและรบกวนการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนิน จึงเกิดเป็นอาการปวดศีรษะขึ้นนั่นเอง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เปิดเส้นทาง 'นักสูบ-นักดื่ม' สู่เยาวชนแกนนำพาเพื่อน-ครอบครัวเลิก

เตรียมตับ.. ดูแลร่างกายไม่ให้พัง รับปาร์ตี้คริสต์มาส-ปีใหม่

ดื่มแล้ว เมาขาดสติ ส่งผลกระทบสมอง

พญ.จิตรลดา สมาจาร แพทย์สาขาประสาทวิทยา โรงพยาบาลสมิติเวช กล่าวว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพสมองทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งเรื่องความจำ ความคิด ความเข้าใจ การใช้เหตุผล พฤติกรรมการแสดงออก การเคลื่อนไหว บุคลิก อารมณ์ มีรายงานพบว่า อาการความจำเสื่อมเป็นผลจากการใช้แอลกอฮอล์ในระยะยาวมากถึง 9-24% * โดยขึ้นอยู่กับระยะเวลา ปริมาณ ชนิดของเครื่องดื่มซึ่งมีปริมาณแอลกอฮอล์แตกต่างกันไป เช่น รูปแบบของการดื่ม ช่วงงดเว้นการดื่ม

ทั้งนี้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่สามารถดื่มได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสมอง คือ ไม่เกิน 3 วันใน 1 สัปดาห์ โดยปริมาณการดื่มไม่เกิน 14 ดื่มมาตรฐาน (7 pints of beer หรือ เบียร์ 4 ขวด, 1 pint of beer เทียบเท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 8 กรัม) ต่อสัปดาห์ในผู้หญิง และ 21 ดื่มมาตรฐานในผู้ชาย

ทำไม? ดื่มเหล้าแล้วเมาไปถึงสมอง  ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ

  • ผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อสมอง

แอลกอฮอล์ที่ดื่มหลังจากดูดซึมแล้ว สามารถซึมผ่านหลอดเลือดเข้าไปทำลายเซลล์สมองได้โดยตรง ทำให้การกำจัดของเสียในเซลล์สมองแย่ลง การสร้างสารสื่อประสาทน้อยลง เนื้อสมองเสียหายและตายเร็วกว่าปกติ เกิดเนื้อสมองฝ่อ รวมถึงไปทำลายเซลล์พี่เลี้ยงของสมองที่ช่วยในการทำงาน

 นอกจากนี้แอลกอฮออล์ยังไปรบกวนการดูดซึมและกระบวนการนำวิตามินบี 1 ไปใช้ ทำให้เกิดภาวะขาดวิตามินบี 1 ซี่งหากพบร่วมกับภาวะขาดสารอาหารในผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้กระบวนการทำลายของสมองเร็วยิ่งขึ้น

เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้สมองมีความเสียหายได้

ภาวะสมองเสียหายจากสุรา (alcohol related brain damage)

  • อาการในระยะเฉียบพลัน: สูญเสียการควบคุมตัวเอง สูญเสียความจำระยะสั้นในด้านความคิด การใช้เหตุผลลดลง เสียการควบคุมการเคลื่อนไหวทรงตัวได้ไม่ดี ถ้าได้รับแอลกอฮอล์ในปริมาณมากทำให้กดการหายใจ ระดับความรู้สึกตัวลดลงได้
  • อาการในระยะยาว: บุคลิกภาพและอารมณ์แปรปรวน ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ นำไปสู่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม มีภาวะความจำเสื่อม มีปัญหาการเรียนรู้และจดจำ รวมไปถึงมีการเติมความจำด้วยข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องลงไป

แอลกอฮอล์ส่งผลต่อสมองของเพศหญิงมากกว่าเพศชายเนื่องจากความแตกต่างในหลายปัจจัย เช่น ปัจจัยจากฮอร์โมนเพศ น้ำหนัก ปริมาณไขมันในร่างกาย

นอกจากแอลกอฮอล์จะส่งผลต่อสมองและระบบประสาทส่วนกลางแล้ว ยังส่งผลต่อระบบประสาทส่วนอื่นๆ ได้แก่

  • เส้นประสาทควบคุมการสั่งการเคลื่อนไหว (Motor nerve) ทำให้ผู้ป่วยมีอาการอ่อนแรงของแขนขา
  • เส้นประสาทที่ควบคุมการรับความรู้สึก (Sensory nerve) ส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการชา คล้ายเข็มทิ่มปลายมือเท้า มีอาการเดินเซควบคุมการทรงตัวลำบาก
  • เส้นประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nerve) ทำให้การควบคุมความดันระหว่างการเปลี่ยนท่า การเต้นของหัวใจ ผิดปกติ การหลั่งของเหงื่อ น้ำลาย น้ำย่อยในทางเดินอาหารผิดปกติ ส่งผลทำให้มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียได้

ทำไม? ดื่มเหล้าแล้วเมาไปถึงสมอง  ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ

นักดื่มอายุน้อย ดื่มตั้งแต่วัยรุ่นมีผลเสียมากกว่า

ประเภทของแอลกอฮอล์ที่เราสามารถบริโภคได้ คือ แอลกอฮอล์ที่เกิดจากกระบวนการหมักผลผลิตทางการเกษตรกับยีสต์ได้เป็นเอทิลแอลกอฮอล์หรือที่เรียกกันว่า เอทานอล เมื่อดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปแล้วแอลกอฮอล์ก็จะถูกดูดซึม และเคลื่อนที่ผ่านกระแสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ทำให้ไปกดการทำงานของสมองที่ส่งผลต่ออาการเมาจนเก็บทรงไม่อยู่ดังนี้

1. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานบริเวณต่าง ๆ ของสมองส่วนซีรีบรัม (Cerebrum)

  • กดการทำงานสมองกลีบหน้า (Frontal lobe) จะทำให้จำไม่ค่อยได้ ความคิด บุคลิก และพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปจากปกติ
  • กดการทำงานสมองกลีบข้าง (Parietal loab) การประมวลผลการรับรู้ตำแหน่งจะแย่ลง และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง
  • กดการทำงานสมองกลีบขมับ (Temperalloab) จะไปทำให้การรับกลิ่นเสียงและความรู้สึกแย่ลง
  • กดการทำงานสมองกลีบหลัง (Occipital loab) จะทำให้การรับรู้ภาพแย่ลง ตาพร่ามัวมองเห็นไม่ชัด

2. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus)

ทำให้ความรู้และความทรงจำเสียหาย เมื่อตื่นมาจะจำเรื่องราวที่เกิดขึ้นไม่ได้ เวลาเมาจะหวนคิดถึงความหลังที่น่าเศร้าและไม่แปลกที่จะพบว่าคนเมามักจะชอบร้องไห้

3. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานสมองส่วนซีรีเบลลัม (Cerebellum)

มีผลต่อการทรงตัวทำให้ยืนไม่ตรง เดินเซ ถือของไม่ไหวและสุดท้ายหากมีแอลกอฮอล์ในเลือดมากก็จะหลับไปในที่สุด

4. แอลกอฮอล์จะไปกดการทำงานก้านสมอง (Brain stem)

ทำให้มีการรบกวนการส่งถ่ายข้อมูลทำให้ร่างกายมีการตอบสนองช้าลง

ทั้งหมดที่กล่าวมา คือสาเหตุของอาการเก็บทรงไม่อยู่หรือการเมานั่นเองแล้วเคยสงสัยไหมว่าทำไมถึงต้องมีกฎหมายห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้วัยรุ่นที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี นั่นไม่ใช่แค่เพียงเพราะค่านิยมของสังคมเท่านั้น แต่การดื่มแอลกอฮอล์ในวัยรุ่นมีผลเสียมากกว่า

อาการเมาที่กล่าวถึงไปในตอนต้น เนื่องจากโดยปกติแล้วสมองของเราจะมีการพัฒนาด้านการเรียนรู้ การจดจำ การควบคุมความรู้ความเข้าใจ การตัดสินใจ และการรักษาความสมดุลทางอารมณ์ในช่วงวัยรุ่นที่มีอายุ 10-20 ปี

หากดื่มแอลกอฮอล์ในช่วงวัยรุ่นนั้นจะรบกวนการพัฒนาของสมอง ทำให้ไม่สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะซึมเศร้าความวิตกกังวลที่มักเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่น ซึ่งมีผลในระยะยาวมากกว่าเมื่อเทียบกับการดื่มแอลกอฮอล์ในผู้ใหญ่ เพราะเหตุนี้เองจึงมีการห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้กับวัยรุ่น

ดังนั้นการที่จะดื่มแอลกอฮอล์นั้น เราก็ควรที่จะรู้ผลเสียที่จะเกิดขึ้นกับชีวิตของเรา เพราะว่าการดื่มแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีแค่ผลในระยะสั้นเฉพาะแค่อาการมึนเมาเท่านั้น แต่การดื่มแอลกอฮอล์นั้นยังมีผลต่อสุขภาพของคนดื่ม โดยเฉพาะในวัยรุ่นที่นอกจากจะผิดกฎหมายแล้ว ยังมีผลต่อการพัฒนาสมองในระยะยาวอีกด้วย

ทำไม? ดื่มเหล้าแล้วเมาไปถึงสมอง  ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ

ตรวจภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮออล์

แพทย์จะซักประวัติการดื่มแอลกอฮอล์ ชนิด ปริมาณ รูปแบบการดื่ม รวมถึงโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมกับตรวจร่างกายเพื่อดูการทำงานของเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ รีเฟล็กซ์ การทรงตัว รวมถึงระบบประสาทอัตโนมัติ เช่น การควบคุมระดับความดันโลหิต อุณหภูมิของร่างกาย การเต้นของหัวใจ ทำการทดสอบเกี่ยวกับความจำของผู้ป่วย

การตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติม เช่น ตรวจระดับโปรตีนแอลบูมินในเลือด ค่าการทำงานของตับ ระดับวิตามินบี ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รวมถึงภาพวินิจฉัยทางสมอง แล้วรวบรวมข้อมูลประเมินระดับความเสียหายที่เกิดขึ้น

บางครั้งผู้ป่วยที่ภาวะสมองเสียหายจากสุรา มักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นอาการของโรคอัลไซเมอร์แต่ภาวะสมองเสียหายจากสุรา เป็นภาวะที่รักษาให้ดีขึ้นและยับยั้งความเสียหายเพิ่มเติมได้ การตรวจเพิ่มเติมที่เหมาะสมจะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและรวดเร็ว

รักษาภาวะสมองเสียหายจากแอลกอฮออล์

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การหยุดดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งจะลดปริมาณสารพิษที่เข้าไปทำลายเซลล์สมองโดยตรง ทำให้เซลล์สมองฟื้นตัวได้ การรักษาภาวะขาดวิตามินบี 1  ด้วยการให้วิตามินบี 1 เข้าทางหลอดเลือดดำ ซึ่งจะให้ผลตอบสนองดี ถ้าสมองได้รับความเสียหายไม่มาก โดยสมองส่วนที่ยังไม่ถูกทำลายจะสามารถฟื้นฟูกลับมาได้ดี รวมถึงรักษาภาวะแทรกซ้อนที่เกิดร่วมกัน เช่น ภาวะขาดสารอาหาร น้ำตาลและไขมันในเลือดสูง เป็นต้น

การให้วิตามินบี 1 แบบฉีดขนาดสูง ติดต่อกัน 5-7 วัน จะให้ผลดีมากในผู้ที่มีภาวะสมองถูกทำลายจากการขาดวิตามินบี 1

หากดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปในปริมาณที่มากและรู้สึกมีอาการผิดปกติของร่างกายตามที่กล่าวมา แนะนำให้มาปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจรักษาที่ถูกต้องเพื่อสุขภาพที่ดี

ทำไม? ดื่มเหล้าแล้วเมาไปถึงสมอง  ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ

อาการเมาค้าง…เแก้อย่างไรได้บ้าง

ก่อนจะไปรู้ว่าหลังเมาค้างจะดูแลตัวเองอย่างไร ควรรู้ก่อนว่าสิ่งที่ไม่ควรทำหลังดื่มแอลกอฮอล์

  • ห้ามอาบน้ำทันที : หลังจบปาร์ตี้ ใครที่ชอบอาบน้ำหลังกลับมาถึงบ้าน ขอบอกว่าให้เปลี่ยนพฤติกรรมซะ เพราะถ้าไม่อยากเมาหนักกว่าเดิม…ก็ยอมดมกลิ่นเหงื่อตัวเองไปสักพักก่อนเนอะ!
  • ห้ามหลับยาว : เวลาเมาค้างทีไร อาการหนังตาจะปิดมักจะมาทุกที งานนี้ขอบอกเลยว่าถ้าคุณเผลอหลับยาวหลังดื่มหนักใหม่ๆ เมื่อตื่นนอนตอนเช้าก็เตรียมตัวมึนงงกับอาการเมาค้างได้เลย
  • ห้ามเป่าพัดลม : แอลกอฮอล์อาจทำให้คุณรู้สึกร้อนวูบวาบจนต้องการลมเย็นๆจากพัดลม ซึ่งการเป่าพัดลมไม่เพียงทำให้ร่างกายสูญเสียพลังงานความร้อนเร็วขึ้น..จนส่งผลให้เกิดอาการปวดศีรษะ แต่ยังเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดสมองแตกได้ด้วยนะ
  • ห้ามกินยาบรรเทาอาการ : การกินยาบรรเทาอาการปวดศีรษะก่อนเข้านอน หรือในขณะที่ร่างกายยังมีปริมาณแอลกอฮอล์สะสมอยู่มาก ไม่ใช่สิ่งที่ควรทำ! เพราะเมื่อยาบรรเทาอาการปวดผสมเข้ากับแอลกอฮอล์..จะส่งผลอันตรายต่อตับได้

เคล็ดลับแก้อาการเมาค้าง

  • ดื่มน้ำเปล่าชะล้างพิษ : การดื่มน้ำเปล่าจะช่วยให้ร่างกายขับสารพิษหรือแอลกอฮอล์ออกทางปัสสาวะได้มากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ดื่มน้ำหลังฟื้นนะ..แต่ควรดื่มน้ำเปล่าหลังกลับจากปาร์ตี้ด้วย
  • ไม่นอนทั้งวัน : แม้ว่าร่างกายจะโหยหาการนอนแค่ไหน แต่ก็ไม่ควรนอนจมบนเตียงตลอดทั้งวัน ควรลุกออกมาสูดอากาศเพื่อให้ออกซิเจนช่วยกระตุ้นการทำงานของเมตะบอลิซึม ทำให้รู้สึกกระปรี้กระเปร่ามากขึ้นได้
  • เลือกกินเมนูร้อนๆ : การจิบชาร้อนหรือกินอาหารประเภทซุป ก๋วยเตี๋ยว หรือโจ๊กร้อนๆ จะช่วยลดอาการเมาค้างได้นะ
  • เติมความเปรี้ยวซะหน่อย : ไม่ว่าจะกินส้มเป็นผลหรือน้ำส้มคั้นสดใหม่ ความเปรี้ยวจะช่วยแก้อาการคลื่นไส้ได้ แถมวิตามินซีในส้มยังช่วยให้ร่างกายสดชื่นขึ้นด้วย

หากมีอาการ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หรือท้องเสีย ไม่หยุดภายใน 1 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะภาวะร่างกายขาดน้ำ..อาจส่งผลอันตรายกว่าที่คุณคิด!

การจะเมามากเมาน้อย จึงขึ้นกับปริมาณแอลกอฮอล์ในน้ำเมานั้น โดยทั่วไป เบียร์จะมีแอลกอฮอล์ประมาณร้อยละ 2-5, น้ำตาลเมาและเหล้าองุ่น จะมีแอลกอฮอล์ร้อยละ 10, เหล้าโรงหรือเหล้า 28 ดีกรี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 28, เหล้าผสม เช่น แม่โขง กวางทอง จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 35, เหล้าขาว 40 ดีกรี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 40, วิสกี้และบรั่นดี จะมีแอลกอฮอล์อยู่ประมาณร้อยละ 40-50 เป็นต้น

ทำไม? ดื่มเหล้าแล้วเมาไปถึงสมอง  ควบคุมตัวเองไม่ได้ ขาดสติ

เช็กตัวเอง เมาระดับไหน อันตรายอย่างไร

คนส่วนใหญ่เข้าใจว่า เหล้ามีฤทธิ์กระตุ้นร่างกาย ทำให้มีความสุข ลืมความทุกข์ จึงสนุกสนาน เฮฮาร่าเริง แต่อันที่จริงแล้ว เหล้าไม่ได้ไปกระตุ้นประสาท หรือสมองเลย มันกลับไปกดประสาทและสมองเป็นระยะ ๆ ดังนี้

  • ระยะแรก 

จะไปกดสมองส่วนที่ควบคุมความคิด และสมองส่วนที่คอยยับยั้ง ควบคุมให้มีความระมัดระวัง เมื่อสมอง 2 ส่วนนี้ถูกเหล้ากดบังคับไว้ไม่ให้ทำงาน บุคคลผู้นั้นก็จะหมดความยับยั้งชั่งใจ และไม่สามารถควบคุมตนเองได้อีกต่อไป ทำให้พูดจาเอะอะ โผงผาง ที่เคยเป็นคนขี้อายหรือเงียบขรึม พอเหล้าเข้าปากแล้ว กลับหน้าด้านหรือพูดมากจนคนอื่นรำคาญ

เมื่อสมองส่วนที่คอยทำให้คนเราต้องคอยระวังกิริยามารยาทของตน ถูกเหล้ากดบังคับไว้ไม่ให้ทำงาน คนที่กินเหล้าจึงเกิดความรู้สึกสบายที่ไม่ต้องสำรวมกาย วาจา และใจ อีกต่อไป อารมณ์ที่ตึงเครียดก็จะถูกระบายออก ทำให้ความกระวนกระวายหรือความกังวลห่วงใยลดลง รู้สึกเหมือนกับว่าตนมีอิสรเสรีเต็มที่ และปล่อยตัวปล่อยใจตามสบาย

ฤทธิ์ของเหล้าอันนี้นั่นเองที่ทำให้คนติดเหล้า เพราะกินเหล้าแล้วทำให้หมดทุกข์ รู้สึกสนุกสนาน สำราญ และมีอิสระเสรีอย่างที่ตนเองก็ไม่เข้าใจ แต่ก็ฤทธิ์ของเหล้าอันนี้อีกนั่นแหละที่ทำให้เกิดการทะเลาะวิวาทตีรันฟันแทงหรือเหตุรุนแรงอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะเหล้าทำให้ขาดความยับยั้งชั่งใจ และทำให้เกิดความประมาทอย่างที่มีคนพูดว่า “พอเหล้าเข้าปาก เห็นช้างเท่าหมู” เป็นต้น

ระยะแรกนี้ จะเกิดขึ้นเมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงประมาณ 30-50 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซี.ซี. เช่น จากการดื่มเบียร์ประมาณ 1-2 ขวดใหญ่ หรือเหล้าประมาณ 2-4 ก๊ง แต่ฤทธิ์ของเหล้าหรือน้ำเมาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้า มากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับความเคยชิน (ความจัดเจน) ต่อเหล้าหรือน้ำเมาของคน ๆ นั้นด้วย

  • ระยะที่สอง

สมองจะถูกกดมากขึ้น ทำให้สมองส่วนที่ควบคุมการเคลื่อนไหวและการพูดถูกกดไปด้วย จึงเกิดอาการพูดไม่ชัด แบบที่เรียกว่าพูดอ้อแอ้ ลิ้นไก่สั้น เดินโซเซหกล้มหกลุก ประสาทการรับรู้ช้ากว่าปกติ ทำให้แก้ไข หรือหลีกเลี่ยงอันตรายต่าง ๆ ไม่ทัน จึงเกิดอุบัติเหตุต่าง ๆ ได้ง่าย หรือไม่ก็ก่อให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุขึ้นเอง เพราะไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหว ตลอดจนมือเท้า และ แขนขาของตนเองได้อย่างในเวลาที่ไม่เมาเหล้า

ระยะที่สองนี้ จะเกิดขึ้น เมื่อความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงประมาณ 100 มิลลิกรัม ต่อเลือด 100 ซี.ซี. เช่น จากการดื่มเบียร์ประมาณ 4-6 ขวดใหญ่ หรือเหล้าประมาณ 1 / 3-1 / 2 ขวดใหญ่ แต่ฤทธิ์ของเหล้าหรือน้ำเมาต่าง ๆ จะเกิดขึ้นเร็วหรือช้ามากหรือน้อย ย่อมขึ้นกับความเคยชินต่อเหล้าหรือน้ำตาลเมาของคนนั้นด้วย

ระยะที่สองนี้ จึงเป็นระยะที่เริ่มควบคุมตัวเองไม่ได้ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายทั้งต่อตัวเองและต่อผู้อื่น เรียกว่าเมาเหล้า ในบางประเทศถ้าเขาตรวจเลือดพบความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกิน 150 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี. เขาจะถือว่าเป็นการเมาเหล้าแล้ว และถ้าเป็นเช่นนั้นในขณะขับรถ อาจจะถูกจำคุกและริบใบอนุญาตขับขี่ด้วย

  • ระยะที่สาม

สมองจะถูกกดมากขึ้น ๆ จนช่วยตัวเองเกือบไม่ได้เลย ถอดเสื้อถอดรองเท้าเองก็ไม่ได้ขึ้นยืนเองก็ไม่ได้ นั่งตรง ๆ ไม่ได้ ในที่สุดก็ต้องฟุบกับโต๊ะ หรือนอนแผ่อยู่ตรงนั้นเอง ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดในระยะนี้จะสูงประมาณ 200 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี.

  • ระยะที่สี่

สมองที่สำคัญ สำหรับการมีชีวิตอยู่เริ่มจะถูกกด เกิดอาการไม่ค่อยรู้สึกตัว แล้วในที่สุดจะหมดสติและไม่รู้สึกตัวโดยสมบูรณ์ (โคม่า) สมองส่วนที่ควบคุมหัวใจและการหายใจจะถูกกดทำให้หายใจไม่สะดวก หายใจช้า หรือหายใจเป็นพัก ๆ จนกระทั่งหยุดหายใจและหัวใจหยุดเต้น ทำให้ถึงแก่ความตาย ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ในเลือดในระยะนี้จะสูงถึง 400-500 มิลลิกรัมต่อเลือด 100 ซี.ซี.

พิษของเหล้าต่อสมองและระบบประสาทที่กล่าวมาข้างต้น เป็นพิษที่เกิดขึ้นทันที ส่วนพิษเรื้อรังที่เกิดขึ้น จะทำให้สติปัญญาเสื่อมลง มือไม้สั่น กล้ามเนื้อไม่มีแรง และถ้าเป็นมาก ๆ อาจจะเกิดอาการเหน็บชาและเป็นอัมพาตได้

อ้างอิง : ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ,โรงพยาบาลสมิติเวช ,โรงพยาบาลเปาโล ,thaihealth