'โซลาร์-โลกเดือด'ป่วนใช้ไฟปี2567 พีคทะลุพีค 36,699 เมกะวัตต์

'โซลาร์-โลกเดือด'ป่วนใช้ไฟปี2567 พีคทะลุพีค 36,699 เมกะวัตต์

การติดตั้งโซลาร์เซลล์และอุณหภูมิที่สูงขึ้น ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลากลางคืนกลับมาสูงสุดอีกครั้งของเดือนเม.ย.ปี2567 ทะลุถึง 36,699.9 เมกะวัตต์

KEY

POINTS

  • โซลาร์เซลล์ราคาถูกลง ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงกลางวัน บวกกับยอดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak)​ ในช่วงเวลากลางคืน
  • จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 เวลา 21.00 น. 
  • กำลังผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดในช่วงพีค เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด พบว่าประเทศไทยยังคงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณ 25.8% 

จากการที่โซลาร์เซลล์มีราคาถูกลง แต่สามารถช่วยผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงกลางวันเท่านั้น ส่งผลให้เกิดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak)​ ในช่วงเวลากลางคืน บวกกับยอดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่เพิ่มสูงขึ้นและส่วนมากนิยมชาร์จไฟฟ้าในเวลากลางคืน

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ในฐานะโฆษกกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึง สถานการณ์การใช้ไฟฟ้าในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า จากสภาพอากาศร้อนจัด ส่งผลให้ประเทศไทยมีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) อยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 21.00 น. 

ทั้งนี้ สูงสุดในประวัติศาสตร์การใช้ไฟฟ้าของประเทศไทย โดยจะเห็นได้ว่าเป็นการเกิดการพีคในช่วงเวลากลางคืน ซึ่งเป็นช่วงที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ Solar Cell ไม่สามารถที่จะผลิตไฟฟ้าออกมาช่วยรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในระบบได้ 

นอกจากนี้ ตัวเลขระดับกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve Margin) ซึ่งเป็นการคำนวณจาก กำลังผลิตไฟฟ้าที่คาดว่าจะสามารถผลิตได้จริงของโรงไฟฟ้าแต่ละชนิดในช่วงที่จะเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด พบว่า ประเทศไทยยังคงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ประมาณ 25.8%

อย่างไรก็ตาม การลดลงจากปีที่ผ่านมา (ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด อยู่ที่ 34,826.5 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งคิดเป็นกำลังผลิตสำรองประมาณ 30.9%) โดยกระทรวงพลังงานจะติดตามการใช้ไฟฟ้าและการสำรองไฟฟ้าของประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า สาเหตุของการใช้ไฟฟ้าพีคในช่วงกลางคืนมาจาก

1. อุณหภูมิที่ร้อนสะสมจึงมีการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น ทั้งการเปิดแอร์ หรือพัดลมระบายความร้อน

2. การติดตั้งโซลาร์เซลล์ เพิ่มขึ้น โดยช่วงกลางวันจะไม่ได้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้า แต่เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์หมดลงในช่วงเวลากลางคืนจึงหันกลับมาใช้ไฟฟ้าของ 3 การไฟฟ้า เป็นต้น

3. การชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในช่วงเวลากลางคืนที่เริ่มมียอดการใช้เพิ่มมากขึ้น 

รายงานข่าว ระบุว่า เมื่อย้อนดูสถิติยอดการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนม.ค.-เม.ย. 2567 การใช้ไฟฟ้ามีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง โดย

เดือน ม.ค. 2567  มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 11 ม.ค. 2567 เวลา 18.52 น. อยู่ที่ 29,051.3 เมกะวัตต์

เดือน ก.พ. 2567  มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 22 ก.พ. 2567 เวลา 19.29 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 30,989.3 เมกะวัตต์

เดือน มี.ค. 2567  มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่  7  มี.ค. 2567 เวลา 19.47 น. ยอดใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,704 เมกะวัตต์

เดือน เม.ย. 2567  มียอดพีคไฟฟ้าเกิดขึ้นในวันที่ 6 เม.ย. 2567 เวลา 21.54 น. ยอดพีคไฟฟ้าอยู่ที่ 34,656.4 เมกะวัตต์ และพีคอีกครั้งวันที่ 29 เมษายน 2567 เวลา 21.00 น. อยู่ที่ 36,699.9 เมกะวัตต์ 

ส่งผลให้ 4 เดือนปี 2567 การใช้ไฟฟ้าพีคในเวลากลางคืนถึง 5 ครั้งแล้ว